ฟังก์ชั่น “วัดระดับออกซิเจนในเลือด” ในสมาร์ทวอทช์ มีเพื่ออะไร
2021-04-28 17:46:38 | 2290
จากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน
ส่งผลให้อุปกรณ์การแพทย์ไม่เพียงพอหรือแม้กระทั่งการรอคิวเพื่อตรวจรักษายังถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก
จริงๆ แล้วในอุปกรณ์ของใช้ในชีวิตประจำวันของเรา
ก็มีสิ่งหนึ่งที่พอจะใช้ตรวจสอบสุขภาพเบื้องต้น เพื่อสังเกตความผิดปกติของร่างกายได้
นั่นก็คือ “นาฬิกา” ที่หลายๆ แบรนด์ออกแบบมาเป็นอุปกรณ์เสริมด้านสุขภาพ
เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่
ที่ใส่ใจกับการออกกำลังกายและการวัดผลสุขภาพของตนเองมากขึ้น
สำหรับฟังก์ชันที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัดผลสุขภาพ
ที่บ่งบอกถึงเชื้อโควิด-19 ก็คือฟังก์ชันการ “วัดระดับออกซิเจนภายในเลือด”
ซึ่งนาฬิกาหลายรุ่นได้ใส่เป็นฟังก์ชันพิเศษเข้ามานั่นเอง
- ค่าออกซิเจนในเลือด เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อย่างไร?
Garmin ได้เขียนบทความในหัวข้อ
“ค่าออกซิเจนในเลือดสามารถช่วยโลกต่อสู้กับโควิด–19” โดยในบทความได้อธิบายไว้ว่า
"ปกติแล้วร่างกายจะมีระดับออกซิเจนในเลือด (SpO2) อยู่ที่ 95-100% แต่ถ้าระดับออกซิเจนต่ำกว่า
95% แสดงว่าร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
และเกิดภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งถ้าต่ำกว่า 90% ลงไป
อาจจะเป็นไปได้ว่าเกิดความผิดปกติของร่างกายที่เกิดจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจและโรคที่เกี่ยวกับปอดได้"
ทั้งนี้
นาฬิกาที่มีฟังก์ชันดังกล่าวอาจไม่สามารถวัดผลได้แม่นยำเท่ากับอุปกรณ์ทางการแพทย์
อย่างเช่นเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
แต่ในขณะที่เครื่องมือกำลังหาซื้อยากขึ้นเรื่อยๆ
และมีแนวโน้มว่าจะราคาแพงขึ้นจากกลไกทางการตลาด
หากคุณมีนาฬิกาที่บรรจุฟังก์ชันการวัดระดับออกซิเจนภายในเลือดอยู่แล้ว
หรือกำลังมองหามาเป็นไอเทมคู่กาย นาฬิกาเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
ในการใช้ตรวจสอบเบื้องต้นได้เช่นกัน
- ฟังก์ชันวัดระดับออกซิเจนในเลือดมี #หลักการทำงาน อย่างไร?
ร่างกายของเราจะมีเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีฮีโมโกลบินซึ่งจับกับออกซิเจนอยู่
ซึ่งตัวเซ็นเซอร์ที่นาฬิกาส่วนใหญ่ใช้กันเป็นประเภท Pulse Oximetry ที่จะปล่อยคลื่นแสง 2 ย่านความถี่ที่มีคลื่นความถี่ต่างกันออกมา
เช่น แสงอินฟราเรดและแสงสีแดง
โดยปกติแล้วตัวเซ็นเซอร์จะติดอยู่ที่ด้านหลังนาฬิกา
เมื่อแสงปล่อยออกมากระทบบริเวณผิว
แสงที่ถูกส่งเข้าไปจะกระทบกับฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง
จากนั้นจึงเกิดเป็นการดูดซับแสงที่ต่างกัน
โดยฮีโมโกลบินที่มีออกซิเจนอยู่มากจะดูดซับแสงอินฟราเรดดีกว่า
ส่วนฮีโมโกลบินที่ไม่มีออกซิเจนจะดูดซับแสงสีแดงได้ดีกว่า
แสงที่สะท้อนกลับมาจากร่างกายจะกลับไปที่เซ็นเซอร์
จึงสามารถคำนวณหาปริมาณฮีโมโกลบินที่มีออกซิเจนได้ออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์
(ซึ่งค่าอาจจะคลาดเคลื่อนได้จากหลายปัจจัย เช่น การไหลเวียนของเลือด
ตำแหน่งการสวมใส่ หรือแม้กระทั่งการขยับตัวด้วย)
- ส่องนาฬิกา ที่มีฟังก์ชันวัดระดับออกซิเจนในเลือด
ปัจจุบันนี้มีนาฬิกาหลายรุ่นหลายยี่ห้อที่บรรจุฟังก์ชันดังกล่าวเข้ามา
มีตั้งแต่ราคาหลักร้อยถึงหลักหมื่น เราจึงรวบรวมข้อมูลนาฬิกาแต่ละแบรนด์ที่น่าสนใจ
ว่ามีรุ่นไหนบ้างที่ออกฟังก์ชันวัดระดับออกซิเจนในเลือด
รวมถึงเปรียบเทียบช่วงราคาและความคงทนของแบตเตอรี่ให้ดูกันชัดๆ
เพื่อการตัดสินใจเลือกใช้งานให้เหมาะกับความต้องการของคุณ จะมีรุ่นไหนน่าสนใจบ้าง
ไปดูกันเลย!
หมายเหตุ: นาฬิกาไม่ได้เป็นอุปกรณ์ทางแพทย์
ไม่ควรนำไปใช้ในการวินิจฉัยอาการด้วยตนเอง
ควรใช้เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับการสังเกตสภาพร่างกายในเบื้องต้นมากกว่า
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://bit.ly/3sPM111
https://bit.ly/2QACbTH
https://apple.co/2QnJnCN
https://bit.ly/2S33vum